ส่องเศรษฐกิจโลกปี 66 สุดผันผวน

“ทีมเศรษฐกิจ” ชวนส่องเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ไปกับ 3 กูรูชั้นนำในแวดวงเศรษฐกิจไทย

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความหวาดกลัวต่อการขาดแคลนอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

วิกฤติเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่พลิกคว่ำคะมำหงายจากช่วงฟื้นฟูดิ่งสู่ภาวะถดถอย รวมทั้งความผันผวนที่รุนแรงขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลก

หลายคนคงกำลังตั้งคำถามว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับ “โลกของเรา” ความโกลาหล และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาจะนำพาอะไรมาสู่เราบ้างในปีหน้า

ทำให้นึกถึงชื่อหนังสือที่เขียนโดย “อลัน กรีนสแปน” อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) The Age of Turbulence : Adventures in a New World…ซึ่งแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะออกมานานแล้ว แต่ยุคแห่งความโกลาหลยังไม่สิ้นสุด และความโกลาหลที่แท้จริงเรากำลังเผชิญหน้าในโลกใหม่นี้จะเป็นอย่างไร

“ทีมเศรษฐกิจ” ชวนส่องเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ไปกับ 3 กูรูชั้นนำในแวดวงเศรษฐกิจไทย

เริ่มต้นจากเลขาสภาพัฒน์ มองทิศทางของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ว่า “มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลัก”

โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากวิกฤติพลังงานที่ยังคงยืดเยื้อจากมาตรการคว่ำบาตรและการลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

ข่าวเศรษฐกิจ-วันนี้

นอกจากนั้น ยังมีบางประเทศมีความเสี่ยงจากปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สินต่างประเทศสูง ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ ตามแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการจำกัดการเดินทางท่ามกลางความเสี่ยงและข้อจำกัดจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

“สศช.มองแนวโน้มในกรณีฐาน คาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2566 จะขยายตัว 2.6% และ 2% ชะลอลงจาก 3.1% และ 4% ในปี 2565 ตามลำดับ”

กรณีฐานอยู่บนสมมติฐาน คือ 1.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของแต่ละประเทศไม่นำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนาน ไม่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกจนทำให้เกิดวิกฤติ โดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศรายได้น้อยที่มีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 2.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ไม่ขยายไปสู่การใช้กำลังทางทหารในพื้นที่อื่นๆ หรือทวีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง การแบ่งขั้วอำนาจทางการเมืองโลกไม่นำไปสู่มาตรการการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงจนส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกถดถอย

3.ตลาดพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวได้ดีขึ้นและไม่มีการปรับลดการนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติอย่างฉับพลันจนอาจส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤติขาดแคลนพลังงานอาหาร และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและสินค้า และ 4.การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ไม่นำไปสู่การบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้นอีกครั้งจนกระทบต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 0.7% ในปี 2566 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจาก 1.7% ในปี 2565 เป็นผลมาจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัว 0.3% ชะลอตัวลงจาก 2.6% ในปี 2565 จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น โดยประเทศที่นำเข้าพลังงานสูง ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี และเช็ก มีแนวโน้มเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัว 2% เทียบกับ 1.4% ในปี 2565 มีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นจากโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ด้านเศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัว 4.2% ปรับตัวดีขึ้นจาก 3% ในปี 2565 จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

แนะนำข่าวเศรษฐกิจ อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : เปิดสาเหตุที่ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณต่ำกว่าราคาทองคำแท่ง